
ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา

ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา
กิจกรรมและชมรมนิสิต
ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตเกิดการพัฒนาให้สมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ สติปัญญา มีเจตคติที่ดี มีวิจารณญาณ มีสัมพันธภาพระหว่างบุคคล การเข้าใจผู้อื่น มีทักษะในการจัดการปัญหา การจัดการอารมณ์ สามารถปรับตัว และเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง จึงให้มีการแสดงผลงานวิชาการของนิสิต(สัปดาห์วิชาการ) การประกวดแข่งขันเสริมทักษะการเรียนรู้ กิจกรรมชมรม กิจกรรมเชิงพิธีการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมทั้งการฝึกทักษะในชีวิตประจำวัน โดยนิสิตสามารถเลือกทำกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจ แล้วนำประสบการณ์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
กิจกรรมเชิงพิธีการ
การปฐมนิเทศนิสิตประจำปี
การปฐมนิเทศนิสิตใหม่ประจำปี เพื่อให้นิสิตได้รู้จักภาพรวมของศูนย์พุทธศาสนาศึกษา DCI ทราบถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ ปรัชญา และวัฒนธรรมองค์กร ระเบียบปฏิบัติ และการจัดการเรียนการสอน
วันไหว้ครู
วันไหว้ครูเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงคุณงามความดี คุณธรรมของครูบาอาจารย์ที่อุทิศตน ในการอบรมพร่ำสอนแก่นิสิต ทั้งความรู้ทางวิชาการ การฝึกฝนขัดเกลานิสัย การพัฒนาศักยภาพและมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน
การสวดมนต์ทำวัตรและนั่งสมาธิ
การสวดมนต์ทำวัตร นั่งสมาธิ และรับฟังโอวาทจากพระอาจารย์ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นิสิตมีโอกาสได้ระลึกถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บันทึกไว้ในบทสวดมนต์ ยังจิตให้เลื่อมใส มีสติ มีสมาธิ ก่อให้เกิดปัญญา รวมทั้งได้ฟังธรรมะอันทรงคุณค่าจากพระอาจารย์ เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป
กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
การเรียนและสอบบาลี
การเรียนการสอนภาษาบาลีนั้น เพื่อให้พระภิกษุสามเณรหรือฆราวาสผู้สนใจ เกิดความรู้แตกฉานในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลีอันสืบทอดมายาวนานเกือบ 2,600 ปี แล้วนำความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมนั้นเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติของตน และเผยแพร่สู่ชาวโลกให้ตระหนักถึงสัจธรรม ความจริงของชีวิต นำหลักพุทธธรรมเป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดการหลุดพ้นจากความทุกข์ พบความสุขอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาอีกด้วย ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา DCI จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรอย่างจริงจัง และได้เข้าร่วมสอบบาลีสนามหลวงเป็นประจำทุกปี
การสำรวจใบลาน
การสืบทอดพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาล ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เป็นแบบการสวดทรงจำของเหล่าสาวกเรียกว่า มุขปาฐะ แม้กระทั่งก่อนพระองค์จะเสด็จขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้เป็นศาสดาปกครองคณะสงฆ์สืบต่อจากพระองค์เลย แต่ทรงรับสั่งกับพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐากว่า ให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนเป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไปในภายภาคหน้า หลังพุทธปรินิพพานคำสอนของพระองค์ยังได้สวดทรงจำต่อมาและมีการสังคายนาขึ้น ถึงกระนั้นรูปแบบการสืบทอดก็ยังคงเป็นแบบมุขปาฐะเรื่อยมา กระทั่ง พ.ศ. 400 เศษ ในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยแห่งศรีลังกาจึงได้มีการสังคายนาและจารจารึกสืบทอดคำสอนด้วยการจารจารึกลงบนแผ่นใบลานเป็นครั้งแรก ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา นี้คือจุดเปลี่ยนรูปแบบการสืบทอดจากมุขปาฐะเข้าสู่ยุคจารจารึก
เมื่อพิจารณารูปแบบการสืบทอดยุคต่าง ๆ เริ่มจากยุคมุขปาฐะสมัยพุทธกาล ต่อด้วยยุคจารลงบนแผ่นลานเมื่อ พ.ศ. 400 เศษ และเข้าสู่ยุคการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นรูปเล่ม ประมาณ พ.ศ. 2000 เศษ จวบจนปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่มีความก้าวหน้าล้ำสมัยของเทคโนโลยีช่วยให้พระไตรปิฎกสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสผ่านระบบ online หรือ application ทำให้เห็นได้ว่ายุคจารจารึกลงบนแผ่นลานเป็นการสืบทอดที่ยาวนานที่สุด มีระยะเวลา 1,000 กว่าปี ดังนั้นคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะหลักฐานการสืบทอดพระธรรมคำสอนที่ทรงคุณค่ามาอย่างยาวนาน*
* ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่วารสารใบลาน ณ ล้านนา แผนกสื่อและสิ่งพิมพ์ โครงการพระไตรปิฎกวิชาการ พ.ศ. 2563