
ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา

ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษา

โครงการบริการวิชาการ "พุทธศาสตร์เข้าใจอย่างเข้าถึง" รุ่นที่ 6
บาลีสันสกฤต มุมมองใหม่: สร้างคุณค่า พัฒนาชีวิต
ทุกวันเสาร์ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ถึง 16 กันยายน พ.ศ. 2566
เวลา 14.00-15.30 น. ถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM ออนไลน์
วิดีโอบันทึกการถ่ายทอดสด
ใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้เข้าฟังและประเมินแบบสอบถาม
- สำหรับผู้ที่กรอกรายละเอียดครบถ้วน ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และชื่อที่ต้องการ สามารถคลิกที่หัวข้อนั้น ๆ แล้วบันทึกภาพใบประกาศฯ ได้ทันที
- สำหรับผู้ที่กรอกรายละเอียดไม่ครบ คือ หมายเลขโทรศัพท์ ระบบจะไม่สามารถออกใบประกาศฯ ให้ท่านได้ ทางคณะทำงานติดต่อไปยังอีเมลของท่านเพื่อแจ้งหมายเลขพิเศษสำหรับออกใบประกาศฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
อ.พงษ์ศิริ ยอดสา โทร. 081-989-4191
ที่มาของโครงการ
“ติปิฏกํ พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลิฯ ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ชื่อว่า ปาลิ (บาลี)” วาทกรรมดังกล่าว แสดงถึงความสำคัญของภาษาบาลีในการรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอยู่ในหัวใจของผู้ศึกษาภาษาบาลีทุกคนให้ใส่ใจในการศึกษาภาษาบาลีเพื่อรักษาคำสอนต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะภาษาบาลีเป็นหนึ่งที่มีโครงสร้างแน่นอน ตายตัว แม้มีการจัดวางประโยคที่ไม่ตรงตามโครงสร้าง แต่ยังสามารถที่จะเข้าใจความหมายที่ตรงไปตามรูปของข้อความได้ จึงทำให้ภาษามั่นคง และคลาดเคลื่อนได้ยากกว่าภาษาในปัจจุบันที่มีความลื่นไหลไปตามเจตนา บริบท
มุมมองฝ่ายพระพุทธศาสนาจึงมองว่า การศึกษาภาษาบาลีที่ใช้เพื่อการศึกษาพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเป็นไปเพื่อการรักษาพระพุทธศาสนา ให้ยืนยงต่อไปได้ด้วยการอ่าน การเขียนและทำความเข้าใจ ย่อมถอดรหัสคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาเป็นภาษาปัจจุบันมาทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกันที่โลกยุคปัจจุบันกลับมองว่า ภาษาบาลีที่ผูกติดกับความเป็นศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ขยายกรอบมาสู่การสร้างคุณค่าด้านอื่น ๆ เช่น งานวิชาการ การรักษาและการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมโบราณที่เหมาะสมแก่ประชาคมโลก กระทั่งเป็นวัตถุนิยมทางพระพุทธศาสนา เช่น การสร้างพระเครื่อง ของขลังอื่น ๆ อีกจำนวนมากจนกลายเป็นสิ่งงมงาย เหตุนี้จึงทำให้ผู้คนในยุคใหม่มองไม่เห็นช่องทาง หรือคุณค่าที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษาภาษาบาลี และรวมถึงภาษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในทางด้านพระพุทธศาสนาน้อยลง ซึ่งผลกระทบที่เห็นชัดเจน คือ ผู้เรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาษาบาลี สันสกฤต รวมถึงพุทธศาสตร์ มีผู้ให้ความสนใจน้อยลง



คณะทำงานได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้จัดทำโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ในหัวข้อ “บาลีสันสกฤตมุมมองใหม่: สร้างคุณค่า พัฒนาชีวิต” เพื่อเปิดทัศนะของการศึกษาภาษาบาลีในมิติต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างคุณค่า 2 ประการ การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ และการรักษาไว้ซึ่งองค์ความรู้โบราณ ผ่าน 5 ประเด็น คือ 1) ภาษาไทยจากภาษาบาลีและสันสกฤต 2) วรรณกรรมและการแปล 3) ภาษาโบราณ อักษรศักดิ์สิทธิ์ 4) การชำระและการแปลคัมภีร์เชิงลึก และ 5) พุทธศิลป์โบราณจากข้อความบาลี ซึ่งคณะทำงานยังหวังว่า การจัดโครงการบริการวิชาการในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดโลกทัศน์การศึกษาภาษาบาลีสันสกฤต และมิติต่าง ๆ ให้กับผู้ศึกษาภาษาบาลีตามจารีต นักวิจัย และนักศึกษาที่สนใจในหัวข้อดังกล่าว นอกจากนั้นก็ยังตอบวัตถุประสงค์ดั้งเดิมตามบาลีวจนะข้างต้นในการรักษาพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกด้วยเช่นกัน
อนึ่ง โครงการครั้งนี้ บริษัท เนเจอร์กิฟ จำกัด ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) อีกกำลังด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับองค์ความรู้และต่อยอดองค์คุณค่าจากภาษาบาลีสันสกฤตไปสู่การมีชีวิตที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป
วิทยากรและรายการเสวนา
